ค้นหา
ภาษาไทย
สินค้าตามประเภท
    เมนู ปิด
    RSS

    แสดงบทความเกี่ยวกับ aspect ratio

    ความละเอียด Resolution และ อัตราสัดส่วนภาพคืออะไร?
    ความคิดเห็น (14467) ความละเอียด Resolution และ อัตราสัดส่วนภาพคืออะไร?

    Resolution คือ ความละเอียดของภาพ โดยจะเป็นตัวเลขสองจำนวนคูณกัน โดยเป็นจำนวน Pixel ต่อขนาดของจอ โดยจำนวนแรกจะเป็น ขนาดของ แนวกว้างของภาพที่ฉายและ เลขจำนวนหลังเป็น ขนาดแนวสูงของภาพที่ฉาย


    อัตราส่วนของภาพ (Aspect Ratio) คือ อัตราส่วนระหว่างแนวกว้างของภาพต่อแนวสูงของภาพ

     

    เรามักจะพบความละเอียดของโปรเจคเตอร์อธิบายกับทั้งตัวเลขและตัวย่อความละเอียดที่สูงขึ้นหมายถึงภาพละเอียดมากขึ้นซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นขนาดของภาพฉายที่ได้ แบ่งเป็นระดับดังนี้

     

    • SVGA (800 x 600) : ความละเอียดดีปานกลางราคาไม่แพงและคุณภาพสมราคา เหมาะกับการนำเสนอ Presentation รูปภาพ วิดีโอ
    • XGA (1024 x 768) : นี่คือความละเอียดที่เหมาะสำหรับการนำเสนอ Presentation รูปภาพ
    • WXGA (1280 x 800) : ความละเอียด XGA ในรูปแบบ Widescreen เหมาะสำหรับการนำเสนอภาพ ตัวเลข ตัวอักษร
    • Full HD (1920 x 1080) : ความละเอียดนี้สำหรับคอหนังที่ต้องการภาพคมชัดดูหนังได้อย่างสะใจ เป็นความละเอียดในด้านการฉายภาพยนต์ จะเป็น Resolution ที่มีเฉพาะใน Series Home Theater
    • WUXGA (1920 x 1200) : ความละเอียดนี้สำหรับคอหนังเช่นเดียวกันกับ Full HD แต่เป็นอัตราส่วน Scale (16:10) เหมาะสำหรับการนำเสนอภาพที่มีรายละเอียดยิบย่อยต่างๆ เยอะ อย่างเช่น ความคมชัดของตัวอักษร, ตัวเลข, กราฟ, งานเส้น, แบบแปลน
    • UHD (4K) (3840 x 2160) : ความละเอียดนี้คมชัดพิเศษสุดๆ ที่หลายๆคนเรียกกันว่าคมชัดระดับ 4K เหมาะสำหรับการรับชมภาพยนต์ ภายในบ้าน ภาพนั้นมีความคมชัดละเอียด ดูสมจริง *อย่างไรก็ตาม ในทางเทคนิคแล้ว คำว่า 4K จริง ๆ แล้วหมายถึงมาตรฐานการถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีความละเอียด 4,096 x 2,160 พิกเซล (ซึ่งมากกว่า UHD ที่กล่าวไปข้างต้นเล็กน้อย) แต่ในด้านการโฆษณา แบรนด์ต่าง ๆ ก็มักจะใช้คำว่า 4K กับ UHD แทนกัน ดังนั้นคำว่า 4K หรือ UHD (Ultra High definition) ก็มีความหมายไม่แตกต่างกันแต่อย่างใดค่ะ

     

    นอกจากนี้แล้ว โปรเจคเตอร์ 4K บางรุ่น ก็จะมีระบบ Upscale ที่ช่วยยกระดับความคมชัดและรายละเอียดของภาพในระดับ Full HD ปกติ ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับระดับที่ใกล้เคียงกับ 4K ได้ โดยการปรับรายละเอียดและความคมชัด รวมถึงทำการลบ Noise ในภาพให้อัตโนมัติ ภาพที่ได้จึงออกมาใกล้เคียงกับความละเอียดแบบ 4K แม้ว่าต้นฉบับจะเป็นความละเอียดระดับ Full HD ก็ตาม

     

    จากการเปรียบเทียบอัตราส่วนการแสดงผลของจอภาพมาตรฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงการแสดงผลแบบ HDTV ( High Definition Television ) ซึ่งการแสดงผลของภาพในปัจจุบันกำลังพัฒนาไปสู่การแสดงผลของภาพที่ให้ความคมชัดสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะทำให้การแสดงผลของจอภาพรองรับมาตรฐานแบบ Full HD
     
    จากรูป..เป็นการเปรียบเทียบการแสดงผล สำหรับจอภาพ ตามมาตรฐานต่างๆ ที่เรารู้จัก...
           - Full HD (High Definition) 1920 x 1080
           - HD (High Definition) 1280x720
           - PC XGA (Extended Graphics Array) 1024x768
           - SD (Standard Definition) PAL TV 768x576
           - SD (Standard Definition) NTSC TV 720x480
           - CIF (Common Intermediate Format) 352x288
           - QCIF (Quarter Common Intermediate Format) 176x144
     
          ซึ่งแต่ละระบบ มีความแตกต่างกันของขนาดภาพ มันเกี่ยวข้องกับการบันทึกภาพวิดีโอ หรือการนำไปตัดต่อภาพวิดีโอด้วย เช่น การส่งภาพข่าวของผู้สื่อข่าว บมจ.อสมท ในขณะนี้ใช้ขนาด 720x576 และกล้องวิดีโอที่ส่งมาให้ใช้งานตามภูมิภาค ปรับมาตรฐานของภาพที่บันทึกเป็น 720x576 นั่นเอง ซึ่งอยู่ในระบบ SD ที่จะกล่าวในลำดับต่อไป
         
     
     
     
    HDTV ( High Definition Television ) 
          มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "โทรทัศน์ความคมชัดสูง" หรือ "โทรทัศน์รายละเอียดสูง"  หรือเรียกสั้นๆ ว่า HDTV เป็นคำสั้นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการแสดงภาพวิดีโอ โดยเลข 1080 หมายถึง จำนวนความละเอียดของเส้นในแนวนอน 1,080 เส้น และตัวอักษร p ย่อมาจาก Progressive Scan หรือ non-interlaced ในขณะที่ i ย่อมาจาก interlaced ปัจจุบันทั้ง 1080i และ 1080p เป็นฟอร์แมตความละเอียดสูงสุด ที่ใช้กันทั่วไปในการแพร่ภาพโทรทัศน์และการเก็บภาพวิดีโอ
     
          ดังนั้น 1080p จึงเป็นสัญญาณภาพแบบ HDTV โดยมีการรับส่งสัญญาณภาพในแบบจอกว้างหรือไวด์สกรีน ( Widescreen ) อัตราส่วน 16:9 นั่นหมายความว่า ความละเอียดของการแสดงจะผลอยู่ที่ 1920 จุดในแนวนอน และมีความละเอียด 1080 จุดในแนวตั้ง รวมเท่ากับ 1920 x 1080 หรือเท่ากับ 2,073,600 พิกเซล ( 2Mpixel หรือ 2 ล้านพิกเซล )
     
    คำว่า Full HD และ HD-Ready มีความหมายอย่างไร
          Full HD หมายถึงการแสดงผลของจอภาพโทรทัศน์ที่ให้รายละเอียดจำนวนของเส้นในแนวนอนเท่ากับ 1,080 เส้น ทั้งแบบ 1080i และ 1080p ถือว่าเป็นแบบ Full HD สำหรับจอแสดงภาพในแนวนอนเท่ากับ 1,080 เส้น นั่นคือเป็นคำจำกัดความของจอภาพแบบ  Full HD จะแสดงผลทางแนวตั้งและแนวนอน เท่ากับ 1920x1080 จุด ซึ่งเท่ากับ 2,073,600 พิกเซล ( 2Mpixel หรือ 2 ล้านพิกเซล ) นั่นเอง
          
          HD Ready คำนี้จะใช้สำหรับจอภาพที่มีความละเอียดต่ำกว่า Full HD ไม่ว่าจะเป็นขนาดภาพ 1366x768 หรือ 1024x768 หรือ 1280x720 สำหรับจอภาพโทรทัศน์ที่โฆษณาว่าเป็น HD Ready นั้นจะรองรับการนำเข้า input HDMI รับสัญญาณภาพจากเครื่องเล่นที่เป็น Full HD ( 1080i หรือ 1080p ) เช่น..เครื่องเล่น Blu-ray มีขนาดภาพ Full HD 1920x1080 (pixels) ส่งต่อสัญญาณภาพให้โทรทัศน์ที่มีขนาดจอภาพเป็น HD เพียง 1280x720 (pixels) เครื่องรับโทรทัศน์จะทำการ Down Scale ให้เหลือแค่ Native Resolution ให้แสดงผลเท่าที่จอภาพของมันจะทำได้เท่านั้น คือจากขนาดภาพ 1920x1080 pixels (1,080 เส้น) เหลือเพียงขนาดภาพ 1280x720 (720 เส้น) เหมือนว่ารองรับสัญญาณภาพ Full HD 1920x1080 (1,080 เส้น) แต่จริงๆแล้วแสดงผลบนจอภาพโทรทัศน์เพียง 1280x720 (720 เส้น) เท่านั้น จึงเรียกว่า HD-Ready ( แปลว่า...พร้อมสำหรับ HD แต่ไม่ใช่ Full HD )
          
          ตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ยอมรับว่าการแสดงผลแบบ 1080p ถือว่าเป็น Full HD แต่สำหรับการแสดงผลแบบ 1080i แค่ยอมรับได้ว่าเป็น HD  แต่ทางอเมริกากำหนดว่าการแสดงผลแบบ 1080i และ 1080p เป็นแบบ Full HD ส่วนการแสดงผลแบบ 720p ที่มีจำนวนเส้นในแนวนอน 720 เส้น แบบ Progressive Scan นั้นเป็นเพียง HD ธรรมดา  ( แต่ญี่ปุ่นไม่ยอมรับว่า 720p เป็น HD เพราะประเทศญี่ปุ่นมีมาตรฐานสูงและเป็นผู้พัฒนาระบบ HD เป็นประเทศแรก เขายังกล่าวว่าสามารถผลิตภาพที่มีความคมชัดสูงมากกว่านี้ ที่เรียกว่า Super Vision Television ซึ่งผมเคยไปเห็นด้วยตามาแล้ว... )
     
         ส่วนภาพขนาด 720i ( 720 เส้น แบบ interlaced ) ไม่ถือว่าเป็น HD แต่เป็นแบบ EDTV (Extended Definition Television) ระดับภาพแบบมาตรฐานของเครื่องเล่น DVD หรือ HD-DVD
     
    สรุปตามขนาดการแสดงภาพแบบ HD ซึ่งเป็นสัญญาณภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ได้ว่า
    - ขนาดภาพแบบ Full HD เท่ากับ 1,920 x 1,080 pixels = 2,073,600 พิกเซล
    - ขนาดภาพแบบ HD เท่ากับ 1,280 x 720 pixels = 921,600 พิกเซล ( ไม่ใช่ Full HD )
     
    อัตราส่วนของจอภาพ สำหรับ HD คือ ขนาดความกว้าง x ความสูง เป็น 16 ต่อ 9 (16:9) ซึ่งเปรียบเทียบค่าได้จากการนำค่าของความกว้างกับความสูงมาหารกัน ดังนี้ 1,920/1,080 เท่ากับ 16/9 และ 1,280/720 เท่ากับ 16/9 เหมือนกันนั่นเอง
     
     
    XGA ( Extended Graphics Array )
         คือคำที่เรียกการแสดงผลของจอภาพคอมพิวเตอร์ ( Monitor Computer ) ย่อมาจาก Extended Graphics Array (แปลว่าขบวนปรับภาพแบบขยาย) เป็นชนิดจอ LCD หรือ LED มีหลายมาตรฐาน คือ
     
    • VGA ( Video Graphics Array )
    • SVGA ( SuperVideo Graphics Array )
    • SXGA ( Super Extended Graphics Array )
    • UXGA ( Ultra Extended Graphics Array )
     
    มีความละเอียดตั้งแต่
    • VGA คือ ขนาดภาพ 640x480 พิกเซล ( 4:3 )
    • SVGA คือ ขนาดภาพ 800x600 พิกเซล ( 4:3 )
    • XGA คือ ขนาดภาพ 1024x768 พิกเซล ( 4:3 )
    • SXGA คือ ขนาดภาพ 1280x1024 พิกเซล ( 4:3 )
    • SXGA+ คือ ขนาดภาพ 1400x1050 พิกเซล ( 4:3 )
    • UXGA คือ ขนาดภาพ 1600x1200 พิกเซล ( 4:3 )
     
    แล้วยังมีขนาดอัตราส่วนอื่นๆ อีก ที่ขึ้นต้นด้วย W เรียกว่า Wide Screen (จอกว้าง) คือ
    • WVGA คือ ขนาดภาพ 840x480 พิกเซล ( 16:10 )
    • WXGA คือ ขนาดภาพ 1280x800 พิกเซล ( 16:10 )
    • WXGA+ คือ ขนาดภาพ 1440x900 พิกเซล ( 16:10 )
    • WSXGA คือ ขนาดภาพ 1680x1050 พิกเซล ( 16:10 )
    • WUXGA คือ ขนาดภาพ 1920x1200 พิกเซล ( 16:10 )
    • WXGA (HD-Ready) คือ ขนาดภาพ 1366x768 พิกเซล ( 16:9 )
    • WSVGA (Full HD) คือ ขนาดภาพ 1920x1080  พิกเซล ( 16:9 )